วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553

บรรณารักษ์ยุคใหม่สไตล์ Cybrarian

By: libraryhub

วันนี้ผมขอแนะนำคำศัพท์ใหม่ในวงการบรรณารักษ์หน่อยนะครับ
จริงๆ จะบอกว่าใหม่ก็อาจจะไม่ถูกซะทีเดียว คำศัพท์นี้เพื่อนๆ คงอาจจะคุ้นๆ บ้างนั่นแหละ


คำศัพท์ที่จะแนะนำวันนี้ คือ “Cybrarian”

ที่มาของ Cybrarian = Cyber + Librarian

คำว่า Cyber เป็นคำที่ใช้แสดงความเป็นโลกยุคใหม่ โลกสารสนเทศ โลกคอมพิวเตอร์
คำว่า Librarian ตรงตัวเลยครับ คือ บรรณารักษ์

ดังนั้นการนำคำทั้งสองมารวมกันเป็น “Cybrarian” ย่อมมีความหมายว่า
- บรรณารักษ์แห่งโลกคอมพิวเตอร์
- บรรณารักษ์แห่งโลกดิจิตอล
- บรรณารักษ์ยุคใหม่
- บรรณารักษ์แห่งโลกออนไลน์
ซึ่งอยากได้ความหมายแบบไหนเพื่อนๆ ก็นิยามกันได้เลยนะครับ

จริงๆ แล้วนอกจาก Cybrarian
เพื่อนๆ อาจะได้ยินคำว่า Cybrary อีกก็ได้ นั่นคือ Cyber + Library นั่นเอง
หรือที่หลายๆ คนจินตนาการว่า เป็นห้องสมุดแห่งโลกคอมพิวเตอร์ หรือ ห้องสมุดแห่งโลกออนไลน์

แล้ว Cybrarian กับ Librarian มีอะไรที่ต่างกันบ้างหรือปล่าว
หลังจากที่ผมนั่งคิด และพิจารณาถึงความหมายต่างๆ เหล่านี้แล้ว
ผมว่าลักษณะการทำงาน และความรู้ต่างๆ Cybrarian คงมีเหมือนกับ Librarian นั่นแหละ
เพียงแต่จะเพิ่มในเรื่องของความเป็นโลกสมัยใหม่ลงไป เช่น
- ความรู้ด้านไอที หรือความรู้ด้านคอมพิวเตอร์
- ความรู้ด้านการจัดการและบริหารงานสมัยใหม่
- มีทักษะและเข้าใจหลักในการสืบค้นข้อมูลออนไลน์
- รู้จักสื่อในยุคใหม่ๆ (New Media)
- รู้จักและเข้าใจการใช้งานของเว็บไซต์ 2.0

เป็นไงกันบ้างครับ ทักษะต่างๆ ที่เพิ่มเติมขึ้นมา
หวังว่าคงไม่ยากเกินกำลังของบรรณารักษ์ยุคใหม่อย่างพวกเรานะครับ
ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ ฝึกกันไป สักวันพวกเราก็จะกลายเป็น Cybrarian อย่างเต็มตัว

แหล่งอ้างอิง :
http://www.libraryhub.in.th/2009/06/10/librarian-new-style-in-cybrarian/

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

สารสนเทศกับการพัฒนาห้องสมุด

ความหมายและประโยชน์ของสารสนเทศ
สารสนเทศหรือสารนิเทศ (Information) หมายถึง ข่าวสารความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงหรือเรื่องราว ที่กลั่นกรอง แล้วจากข้อมูล ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ ซึ่งบันทึกไว้บนสื่อหรือวัสดุสารสนเทศรูปใดรูปหนึ่งไม่ว่าจะเป็น สิ่งพิมพ์ บนกระดาษหรือวัสดุ ประเภทอื่น เช่น สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิคส์

ประโยชน์ของสารสนเทศ มีดังนี้
- ลดอัตราการตายจากโรคภัยไข้เจ็บ
- ช่วยให้ประชาชนเป็นผู้บริโภคอย่างฉลาด
- ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ
- ลดความผิดพลาดในการตัดสินใจ
- ลดค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยซ้ำซ้อน
- รู้จักแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น
- เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาประเทศ

พัฒนาการของห้องสมุดและวัสดุที่ใช้บันทึกความรู้
1. สมัยโบราณจนถึงก่อนศตวรรษที่ 20
ชาวสุเมเรียน (Sumarians) ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ตามลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสของเมโสโปเตเมียเมื่อประมาณ 3,100 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นชนชาติแรกที่นำเรื่องคำสอนทางศาสนา ตำนาน บทสวดมนต์ คาถา การเมือง เศรษฐกิจ และความคิดทางปรัชญา มาบันทึกลงบนแผ่นดินเหนียว (Clay Tablets) โดยใช้ตัวอักษรที่เรียกว่า “อักษรรูปลิ่มหรืออักษรคูนิฟอร์ม” (Cuneiform) และอารยธรรมนี้ของชาวสุเมเรียน ก็ได้แผ่ขยายไปสู่ชาวบาบิโลเนียน (Babilonians)ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเมโสโปเตเมียและชาวอัสสิเรียน
(Assyrians) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย

ประมาณ 2,700 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ชาวสุเมเรียนเริ่มมีการจัดตั้งสถานที่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “ห้องสมุด” เพื่อให้เป็นที่จัดเก็บแผ่นดินเหนี่ยวทีมีการจารึกอักษรลงไปเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันห้องสมุดดังกล่าวตั้งอยู่ที่เมือง เทลเลาะ (Telloh) ประเทศอิรัก

ชาวบาบิโลเนียนเป็นชนชาติที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงบนแผ่นดินเหนียวเช่นกันโดยเหตุการณ์ที่บันทึกลงไปนั้นจะมีทั้งเรื่องราว ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า การปกครอง ประวัติศาสตร์ ศาสนา และกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่สำคัญในยุคนี้คือ “ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี” (The Code of Hummurabi) ซึ่งเป็นลักษณะกฎหมายแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ชาวอียิปต์ซึ่งตั้งถิ่นฐานตามลุ่มแม่น้ำไนล์ รู้จักบันทึกเหตุการณ์และข่าวสารความรู้ต่างๆ ลงบนแผ่นกระดาษปาไปรัส
(Papyrus) ด้วยอักษรภาพที่เรียกว่า “เฮียโรกลิฟิค” (Hieroglyphic) แล้วม้วนเก็บไว้ในขวดดินเหนียวหรือ ในที่เก็บทรงกระบอก
ซึ่งทำด้วยโลหะและติดฉลากไว้ด้านนอกของที่เก็บ เพื่อให้รู้ว่าเป็นเรื่องของอะไรหลังจากนั้นก็เกิดห้องสมุดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นห้องสมุด ส่วนตัวของกษัตริย์หรือนักปราชญ์ในราชสำนักต่างๆ

ต่อมาได้มีการพัฒนา แผ่นหนังสัตว์ขึ้นเพื่อใช้บันทึกข้อเขียนแทนแผ่นดินเหนียว แผ่นไม้ แผ่นหิน แผ่นบรอนซ์ และ
กระดาษปาไปรัส ซึ่งแผ่นหนังเหล่านี้เมื่อนำมาเย็บรวมกันว่า โคเด็กซ์ (Codex)

ต่อมาในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ โยฮัน กูเตนเบอร์ก (Johann Gutenberg) ชาวเยอรมันที่คิดประดิษฐ์แท่นพิมพ์ซึ่งทำให้วิธี ผลิตหนังสือด้วยการคัดลอกที่ทำมาตั้งแต่โบราณต้องเปลี่ยนมาเป็นเครื่องพิมพ์แทน


2. ช่วงศตวรรษที่ 20

กิจการห้องห้องสมุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ววัสดุที่ใช้บันทึกความรู้และเรื่องราวต่างๆ ยังเป็นกระดาษ ในขณะเดียวกันเมื่อมีสารสนเทศมากขึ้นก็ต้องมีการพัฒนาคิดค้นวัสดุประเภทอื่นให้สามารถบันทึกข้อมูลได้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโสตทัศน์วัสดุ วัสดุย่อส่วน และระบบคอมพิวเตอร์

3. พัฒนาการของห้องสมุดในประเทศไทย

พัฒนาการของห้องสมุดในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยมีการเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งจารึกลงในใบลานไว้ที่
“หอไตรหรือหอพระไตรปิฎก” ในวัดวาอารามต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดเก็บหลักศิลาจารึกและวรรณกรรมทางศาสนาโดยเฉพาะอีกด้วย

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีการสร้าง “หอพระมณเฑียรธรรม” ขึ้นกลางสระน้ำตรงมณฑป
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้เป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกจึงนับได้ว่าหอพระมณเทียรธรรมทำหน้าที่เป็นหอสมุดแห่งแรกของ
กรุงรัตนโกสินทร์


ในสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้โปรดให้มีการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ เพื่อให้เป็น แหล่งศึกษาหาความรู้ของประชาชนทั่วไปวัดพระเชตุพนจึ่งเป็นห้องสมุดสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศนอกจากนี้ยังถือว่าเป็น
มหาวิทยาลัยประชาชน หรือ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ด้วย

ส่วนห้องสมุดสมัยใหม่เริ่มต้นที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 4 ทรงบริจาคทรัพย์ร่วมกันสร้าง “หอสมุดวชิรญาณ” ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะ การดำเนินงาน คือ สมาชิกของห้องสมุดต้องเสียค่าบำรุง มีกรรมการเป็นผู้บริหารและดำเนินงาน รัชกาลที่ 5 ยังโปรดให้สร้าง “หอพระพุทธศาสนสังคหะ” เพื่อใช้เก็บหนังสือและพระไตรปิฎก



ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าให้รวมหนังสือต่างๆจาก หอสมุดวชิรญาณหอมณเฑียรธรรม และหอสมุดศาสนสังคหะ แล้ว เปิดเป็นหอสมุดใหม่ชื่อว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร”เพื่อโปรดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นสถานศึกษาหาความรู้ ซึ่ง หอพระสมุดแห่งนี้ถือว่าเป็นรากฐานแห่งหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน

หอสมุดในประเทศไทยได้รับการพัฒนาและขยายการให้บริการแก่ผู้ใช้อย่างทั่วถึงโดยได้นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยงาน
ห้องสมุดเป็นครั้งแรกที่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย Asian Institution of Technology (AIT) เมื่อ พ.ศ. 2519

ทรัพยากรบุคคลของห้องสมุด

1. บุคลากรในห้องสมุด มี 2 ประเภท
1.1 ผู้มีความรู้ทางวิชาชีพ
เป็นผู้มีความรู้ทางบรรณารักษศาสตร์ และสารสนเทศศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีขึ้นไปโดย มีชื่อเรียกตามลักษณะงานที่ รับผิดชอบ เช่นบรรณารักษ์ตอบคำถาม บรรณารักษ์จัดหา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบุคลากรที่เป็นนักวิชาการ ซึ่งมี ความรู้เฉพาะสาขาวิชาใด วิชาหนึ่ง เช่น นักกฎหมาย นักประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป เป็นต้น อีกทั้งรวมถึง นักเอกสารสนเทศ หรือนักสารสนเทศ ซึ่งมี ความรู้ทางสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับปริญญาตรี บวกกับ ความรู้ทางบรรณารักษศาสตร์ และสารสนเทศศาสตร์ในระดับ ปริญญาโท
1.2 ผู้สนับสนุนกิจกรรมวิชาชีพ
เป็นผู้ที่มีความรู้ในระดับประกาศนียบัตร เช่นพนักงานห้องสมุด และ ช่างศิลป์เป็นต้นซึ่งบุคลากรกลุ่มนี้ช่วยสนับสนุนให้กิจกรรม และหน้าที่ทางการบริการสารสนเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. หน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากรในห้องสมุด
- คัดเลือกและจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ
- วิเคราะห์จัดหมู่และจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศ
- จัดทำเครื่องมือช่วยค้นหาสารสนเทศ เช่น บัตรรายการ
- ให้บริการและเผยแพร่สารสนเทศ

วิธีปฏิบัติเมื่อผู้ใช้มีคำถาม
โดยทั่วไปห้องสมุดขนาดใหญ่จะจัดบรรณารักษ์ไว้ตอบคำถามให้แก่ผู้ใช้ ซึ่งอาจมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น บริการตอบคำถาม บริการตอบคำถามและช่วยค้นคว้า บริการตอบคำถามและบริการสารสนเทศในขณะที่ผู้ใช้ขอรับบริการ จากบรรณารักษ์ตอบคำถามนั้น ผู้ใช้ ควรรู้วิธีถามคำถาม ดังนั้นผู้ใช้ควรปฏิบัติดังนี้
- ถามให้ตรงเป้าหมายและสอดคล้องกับความต้องการ
- ไม่ควรถามคำถามกว้างเกินไป
- ระบุความยากง่ายของคำถามที่ต้องการ
- หากต้องการข้อมูลใหม่ๆ ควรบอกในคำถามด้วย

อ้างอิงจาก : http://www.lib.ru.ac.th/knowledge/is103/les_intro_learn02.html

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

สวัสดี

ยินดีต้อนรับสู่ blogger.witchuta :)